วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552

P/E (ต่อแบบละเอียด)

การประเมินราคาที่อย่างที่ได้บอกไว้ในคราวที่แล้วแบ่งได้เป็น 2 วิธีหลักๆ วิธี discount นั้นผมไม่ค่อยได้ใช้งานเท่าไหร่ แต่ผมก็ไม่ได้บอกว่าเป็นวิธีที่ไม่ดี เพราะถ้านักลงทุนสามารถที่จะประมาณและคาดการณ์อนาคตได้ค่อยข้างแม่นยำ วิธี discount เป็นวิธีที่ให้คำตอบได้ดีมาก (แต่ผมว่ามันยาก) ใครสนใจการประเมินแบบ discount แนะนำให้อ่านหนังสือ วัดมูลค่าหุ้นด้วยตัวคุณเอง เขียนโดย คุณสุมาอี้ (นามแฝง) นะครับ

คราวนี้เรากลับมาพูดถึงวิธี Relative กันบ้างดีกว่า

วิธี Relative ที่ผมใช้บ่อยที่สุดคือ P/E ratio โดยที่ P คือ ราคาหุ้น ในขณะที่ E คือกำไรต่อหุ้น ความหมายของ ความหมายของ p/e มองได้ง่ายๆ คือ จำนวนปีที่จะคืนทุนโดนสมมุติว่ากำไรคงที่ตลอด เช่น เราซื้อหุ้นราคา 10 บาท กำไรต่อหุ้น 2 บาท เพราะฉะนั้นถ้ากำไรของบริษัทยังคงที่ไปตลอด การลงทุนครั้งนี้ก็จะมีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 5 ปี ดังนั้นถ้าสมมติว่าหุ้นทุกตัวในตลาดมีกำไรคงที่ตลอด หุ้นที่น่าซื้อที่สุดคือหุ้นที่ pe ต่ำที่สุด หรือมีระยะเวลาคืนทุนต่ำที่สุดนั้นเอง

แต่ชีวิตจริงมันไม่ง่ายอย่างที่เราสมมติ กำไรของหุ้นในตลาดนั้นมีทั้งเพิ่มขึ้น ลดลง หรือคงที่ ด้วยอัตราที่แตกต่างกันไป เลยเป็นที่มาว่าหุ้นแต่ละตัวจะมี pe ที่เหมาะสมไม่เท่ากัน ลองมาดูตัวอย่างง่ายๆ ข้างล่างนี้
  • หุ้น a มีกำไรคงที่ตลอดมี
  • หุ้น b มีแนวโน้มกำไรเติบโต
  • หุ้น c มีแนวโน้มกำไรลดลง
  • หุ้น d มีกำไรผันผวนเอาแน่เอานอนไม่ได้

สมมติว่าหุ้นทั้ง 4 ตัวมี pe เท่ากับ 6 เหมือนกัน ถ้าให้เลือกหุ้นได้ตัวเดียวเราควรจะซื้อหุ้นตัวไหน จริงๆแล้วคงตอบได้ไม่ยากว่าหุ้น b น่าจะเป็นการลงทุนที่ดีที่สุด เพราะถ้ากำไรไม่โตก็ใช้เวลา 6 ปีในการคืนทุน ถ้ากำไรโตขึ้นด้วยเวลาคืนทุนก็น่าจะสั้นกว่า 6 ปี แต่ถ้าถามกลับกันว่าหุ้นตัวไหนที่ไม่ควรซื้ออย่างมาก ก็น่าจะเป็นหุ้น c เพราะระยะเวลาคืนทุนน่าจะยาวกว่า 6 ปีเป็นแน่ หรือดีไม่ดีอาจจะไม่มีโอกาสคืนทุนเลยก็ได้ถ้าบริษัทกำไรลดลงจนกลายเป็นขาดทุนไปเลย ส่วนหุ้น a นั้นแม้ว่าจะไม่ใช่การลงทุนที่ดีที่สุด แต่อย่างไรก็ใช้เวลาคืนทุนประมาณ 6 ปี ก็ไม่ถือว่าเป็นการลงทุนที่แย่เท่าไหร่ ถ้าเปลี่ยนโจทย์ให้สามารถลงทุนได้ 2 ตัว หุ้น a ก็น่าจะอยู่ในตัวเลือกด้วยได้

แต่ปัญหาอยู่ที่หุ้น d นี่แหละครับ จะว่าน่าซื้อหรือว่าไม่น่าซื้อตอบยากเหลือเกิน เพราะกำไรมันเอาแน่เอานอนไม่ได้ เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง บางปีอาจจะขาดทุนมาก บางปีอาจจะพลิกมาเป็นกำไรมาก ในความเป็นจริงแล้วหุ้นที่อยู่ในตลาดมีหุ้นกลุ่มนี้อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นข้อแนะนำข้อแรกสำหรับการใช้วิธีวิเคราะหู้นด้วย pe อย่างแรกคือ หลีกเลียงการใช้ pe กับหุ้นที่มี ธุรกิจ รายได้ หรือกำไรที่ผันผวน

การใช้ P/E ในการหาราคาเหมาะสมของหุ้นจะเห็นได้ว่าตัวแปรที่มีความสำคัญมากๆคือ P ที่เหมาะสม กับ E ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คราวนี้จะขอพูดเฉพาะ E ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกันก่อนนะครับ

E ในที่นี้คือกำไรต่อหุ้นที่จะเกิดขึ้น โดยปกติผมถ้าอยู่ในช่วงต้นๆหรือกลางๆปี ผมก็จะคาดการณ์กำไรในอนาคตออกไปจนจบปี อย่างตอนนี้เดือน 7 เหลือเวลาอีก 5 เดือนที่บริษัทจะดำเนินงานจนครบปี ผมก็จะประมาณกำไรออกไปอีก 2 ไตรมาสก็จะได้เป็นกำไรของทั้งปี 52 ซึ่งจะประกาศผลออกมาในช่วงประมาณปลายเดือน กุมภาพันธ์ปี 53 เพราะฉะนั้น ราคาเป้าหมายของหุ้นที่คิดจาก E ตัวนี้จะเป็นเป้าหมายราคาในช่วงปลายเดือน 2 ปีหน้าด้วยเช่นเดียวกัน

เวลาส่วนใหญ่ในการวิเคราะห์หุ้นของผมคือการทำความเข้าใจกับธุรกิจให้เพียงพอที่จะสามารถประมาณกำไรให้ได้แม่นยำ ยิ่งแม่นเท่าไหร่โอกาสที่ผมจะถูกก็มีมากขึ้นเท่านั้น ที่นี้คนส่วนใหญ่ก็คงจะงงว่ากำไรจะประมาณอย่างไร อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในตัวธุรกิจของหุ้นนั้นๆด้วย เราสามารถของย้อนไปดูอดีตของบริษัทว่ารายได้มีแนวโน้มเป็นอย่างไร ต้นทุนผันผวนรึเปล่า .. โดยปกติผมมักจะชอบลงทุนในหุ้นที่ผลงานไม่ค่อยผันผวนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการคาดการณ์อนาคตก็จะไม่ซับซ้อนมาก

สิ่งต่อมาที่ต้องดูคือ พยายามหาให้ได้ว่าบริษัทมีการตั้งเป้าการเติบโตอย่างไร ซึ่งหุ้นหลายตัวมักจะมีการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแนวโน้มของธุรกิจอยู่เรื่อยๆ เราก็สามารถนำตัวเลขเหล่านี้มาประมาณรายได้คร่าวๆได้ แต่จะให้ดีควรจะดู Track ย้อนหลังไปด้วยว่าในอดีตที่ผู้บริหารมีการคาดการณ์อนาคต ผลลัพธ์ที่ออกมาใกล้เคียงความจริงเท่าไหร่ เพราะผู้บริหารมีหลายประเภท พวกหนึ่งก็มักจะมองโลกในแง่ดี คือประมาณเกินความจริง อีกพวกก็อาจจะ conservative หน่อย คือประมาณไว้ต่ำกว่าความเป็นจริง อีกพวก็อาจจะประมาณได้ใกล้เคียงความจริง หรือกลุ่มสุดท้ายคือไม่ค่อยซื่อเท่าไหร่ ออกมาให้ข่าวเพื่อสร้างราคา โดยไม่ได้มีความสัมพันธ์กับความจริงเลย เราจำเป็นต้องนำปัจจัยเหล่านี้มาคำนึงในการประมาณรายได้ด้วย แต่ถ้าเป็นผู้บริหารกลุ่มสุดท้ายที่เชื่อถือไม่ค่อยได้ หลีกให้ห่างเลยดีกว่า ไม่ต้องไปเสียเวลาประมาณเพราะยังไงก็คงเดาไม่ถูก (ถ้าความมั่นใจในการประมาณน้อย ควรจะประมาณรายได้ให้ต่ำไว้ก่อน เพื่อความปลอดภัย)

หลังจากประมาณรายได้แล้วต่อมาก็ประมาณกำไร โดยใช้ดูเอาจากอดีตว่ามีอัตราการทำกำไรเท่าไหร่ กำไรขั้นต้นเป็นอย่างไร ค่าใช้จ่ายขายและบริหารเป็นกี่ % ของรายได้ แล้วประมาณออกมาเป็นกำไร (ถ้าผู้บริหารมีการคาดการณ์อัตรากำไรขั้นต้นมาให้ด้วย ก็สามารถเอามาใช้ได้ แต่อย่าลึมนะว่าเป็นผู้บริหารประเภทไหน) เรื่องที่ควรคำนึงถึงในขึ้นตอนนี้คือ ต้นทุน (วัตถุดิบ ค่าแรง การลงทุนในสินทรพย์ถาวร ที่จะเกิดมาเป็นค่าเสื่อมราคา ฯลฯ) มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญรึเปล่า ถ้าต้นทุนเพิ่มสูงมาก ก็ควรประมาณอัตรากำไรขั้นต้นให้ลดลงมากหน่อย ค่าใช้จ่ายขายและบริหารปกติจะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงเร็วมาก โดยส่วนใหญ่แล้ว ถ้ารายได้เพิ่มขึ้น 10% ค่าขายและบริหารมักจะเพิ่มไม่ถึง 10% ถ้าไม่แน่ใจก็ประมาณให้ค่าใช้จ่ายสูงๆไว้ก่อนเป็นดี (อันนี้ขึ้นอยู่กับธุรกิจ ควรดูเปลี่ยนเทียบจากงบการเงินในอีตว่าค่าใช้จ่ายขายและบริหารมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรเทียบกับรายได้)

หลังจากประมาณกำไรได้แล้วก็หารด้วยจำนวนหุ้น กลายเป็น eps จนจบปี แล้วก็เอามาคูณ pe ที่เหมาะสมของหุ้นนั้นๆ ก็จะได้ราคาเป้าหมายออกมาได้ไม่ยาก .... อย่าลืมที่ในขั้นตอนการประมาณถ้ามีจุดไหนที่ไม่มั่นใจให้ประมาณโดยกดให้กำไรต่ำไว้เสมอ และที่สำคัญห้ามหลอกตัวเอง อย่ามองโลกในแง่ดีจนเกินเหตุเพราะจะทำให้เราคำนวณราคาเป้าหมายได้สูง โอกาสขาดทุนจะเยอะ ในขณะที่มองโลกในแง่ร้ายเกินเหตุอย่างน้อยก็ไม่ทำให้เราขาดทุน แค่อาจจะทำให้เสียโอกาสในการซื้อหุ้นราคาถูกเท่านั้นเอง (ยังไงเสียดายน้ำลายหก ก็ยังดีกว่าเสียใจน้ำตาตกอยู่ดี)

สำหรับผมถ้าจะประมาณกำไรได้แม่นๆนั้น ส่วนใหญ่จะต้องมีโอกาสได้คุยกับผู้บริหารด้วย เพราะทำให้เราเข้าใจธุรกิจเค้ามากขึ้น โดยปกติผมชอบยิงคำถามเหล่านี้ เช่น ตั้งเป้ารายได้โตกี่ % อัตรากำไรขั้นต้นจะรักษาระดับเดิมไว้ได้มั๊ย มีปัจจัยอะไรที่น่าเป็นห่วงสำหรับธุรกิจมั๊ย ฯลฯ ก็จะทำให้เราได้ข้อมูลในการประมาณกำไรได้พมสมควร นอกจากนี้การพูดคุยยังทำให้เราพอจะมองออกได้ว่านิสัยของผู้บริหารเป็นอย่างไร ขี้โม้หรือเปล่า ซื่อสัตย์รึเปล่า หรือว่ามีฝีมือรึ้เปล่า โอกาสที่จะได้คุยกับผู้บริหารก็อาจจะน้อย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเลย

วิธีคุยกับผู้บริหารที่ผมใช้ก็มีอยู่หลายวิธี เช่น

  • ประชุมผู้ถือหุ้น: ปกติจะจัดปีละครั้ง (นอกจากจะมีนัดประชุมเพื่อ vote เรื่องพิเศษบางรายการ) คนที่จะมีสิทธิเข้าประชุมก็จำเป็นต้องมีหุ้นอยู่ จะมากจะน้อยแค่ไหนก็ได้ ผมชอบที่จะซื้อหุ้นที่ตัวเองคิดว่าน่าจะดีเก็บไว้อย่างละ 100 หุ้น เพื่อเอารายงานประจำปีไว้อ่าน และก็เพื่อให้มีสิทธิเข้าประชุม (บางครั้งผมไม่มีหุ้นก็ยังขอเค้าเข้าไปประชุมเหมือนกัน ตอนแรกก็เกือบไม่ได้ อ้อนไปอ้อนมาจนเค้ายอม) อย่างหุ้น ilink นี้ผมก็ตัดสินใจซื้อครั้งแรกตอนที่เข้าประชุมผู้ถือหุ้นนี่แหละครับ ก่อนหน้านั้นดูธุรกิจแล้วยังไม่เข้าใจ หลังจากคุยแล้วก็ชอบผู้บริหาร แล้วจากการพูดคุยก็ประมาณกำไรของ ilink ได้ ออกจากห้องประชุมก็เลย โทรสั่งซื้อทันทีเลย
  • Opportunity Day: เป็นงานที่ตลาดหลักทรัพย์จัดขึ้นปีละ 4 ครั้ง เพื่อให้นักลงทุน นักวิเคราะห์ หรือคนที่สนใจมีโอกาสได้คุยกับผู้บริหาร ผมเจอหุ้นดีๆหลายตัวก็จากงานนี้ครับ ลองติดตามรายละเอียดได้จาก www.thaiinvestors.com หรือไม่ก็ไปwww.thaivi.com/webboard แล้ว search หากระทู้ที่มีคำว่า opportunity day หรือ opp day จะมีรายละเอียดบอกว่าวันไหนมีบริษัทไหนมาพูดบ้าง
  • โทรไปหาเลย: วิธีนี้แล้วแต่ดวงครับ โทรไปก็ขอคุยกับ ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ ซึ่งบางแล้วแต่ว่าบางบริษัทก็มีบางบริษัทก็ไม่มี บางที่โทรไปก็ให้ข้อมูลดีมาก บางที่ก็ไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไหร่
  • อื่นๆ: เช่นมีเพื่อนๆพี่ๆนักลงทุนผู้จักกับผู้บริหารก็ขอเข้าพบส่วนตัว แต่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยเท่าไหร่ครับวิธีนี้

แรกๆเราไปก็อาจจะยังนึกไม่ออกนะครับว่าจะถามอะไรผู้บริหาร แต่ถ้าไปบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ลองฟังเอาจากแนวทางการถามของคนอื่นก็จะพอจับทางได้ว่าเราควรถามอย่างไรเพื่อให้ได้คำตอบที่ดี

ในการเลือกซื้อหุ้นเราต้องเทียบระหว่างราคาที่เราจะจ่ายกับคุณภาพของหุ้น ยิ่งหุ้นมีคุณภาพสูง pe ที่เหมาะสมของหุ้นนั้นๆก็ควรจะสูงไปด้วยการประเมินคุณภาพของหุ้น ผมมองว่าเป็นศิลปะ ไม่มีสูตรตายตัวในการคิดออกมาเป็นตัวเลข เพราะคุณภาพนั้นมันวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ยาก ก็อาศัยใช้ประสบการณ์ฝึกดูไปเรื่อยๆก็พอจะได้ไอเดียว่าหุ้นประเภทไหนควรมี pe เท่าไหร่

โดยผมจะมี check list คร่าวๆในใจ เอาไว้ประเมินคุณภาพของหุ้นดังนี้
  • การเติบโตของรายได้: แนวโน้มอุตสาหกรรม, ความสามารถของคู่แข่ง, ความสามารถในการเพิ่มยอดขายของบริษัท
  • ความสามารถในการควบคุมต้นทุน: อำนาจต่อรองเทียบกับ supplier, ความสามารถในการผลักภาระไปให้ลูกค้า
  • ความผันผวนของรายได้และกำไร: ยิ่งผันผวนมาก ผมมองว่าคุณภาพจะค่อนข้างต่ำ
  • ผู้บริหาร: ความซื่อสัตย์, ความขยัน, ความเก่ง (ต้องระวังผู้บริหารที่ขี้โม้เก่งนิดนึง เพราะเราอาจจะคิดว่าฝีมือดีทั้งที่จริงๆแล้วอาจจะไม่ได้เรื่องเลยก็ได้)
  • โครงสร้างการเงินของบริษัท: หนี้สินเทียบกับส่วนทุน, หนี้สินเทียบกับกำไร, เงินสดที่เหลืออยู่หักด้วยหนี้สิน
  • ฯลฯ


จากปัจจัยต่างๆข้างต้นที่เป็นตัววัดคุณภาพ ลองพยายามประเมินออกมาให้ได้ว่าหุ้นที่เราวิเคราะห์นั้นอยู่ในกลุ่มไหน แล้วลองเอามาเทียบกับหุ้น 5 กลุ่มข้างล่างที่ผมเขียนเอาไว้

  • หุ้นที่มีคุณภาพแย่ (หุ้นเกรด F) กิจการที่ขาดทุน หนี้สินเยอะๆ หรือกำไรเอาแน่เอานอไม่ได้ปีนึงกำไรปีนึงขาดทุน หรือพวกที่ผู้บริหารไว้ใจไม่ได้ พวกนี้ไม่ต้องประเมิน pe หรอกครับอย่าไปซื้อมันเลยดีกว่า
  • หุ้นที่มีคุณภาพกลางๆ (หุ้นเกรด C) หนี้สินกลางๆ รายได้และกำไรไม่ค่อยเติบโต หรือเติบโตช้าไม่เกิน 5% ต่อปี pe ควรจะอยู่แถวๆ 5-6
  • หุ้นคุณภาพดีพอใช้ (หุ้นเกรด B) หนี้ไม่มาก รายได้ไม่ผันผวนโตอย่างสม่ำเสมอ กำไรในอนาคตเติบโตระดับ 5-15% ต่อปี pe น่าจะประมาณ 6-9
  • หุ้นคุณภาพดี (เกรด A) หนี้น้อย หรือไม่มีเลย รายได้โตอย่างต่อเนื่อง กำไรในอนาคตคาดว่าจะโตในระดับ 15% ขึ้นไป pe เหมาะสมประมาณ 9-12
  • หุ้นสุดยอด (Super stock) หนี้น้อยหรือไม่มี รายได้มั่นคงมากและโตขึ้นอย่างสม่ำเสมอ กำไรโตขึ้นในระดับ 20-30% ผู้บริหารเก่ง ขยัน ซื่อสัตย์ แนวโน้มธุรกิจดี มีอำนาจในการต่อรองต่อ supplier สูง อยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่แข่งขันกันเรื่องราคาเป็นหลัก สามารถผลักภาระให้ลูกค้าได้ ฯลฯ พวกหุ้นชั้นยอดพวกนี้ pe ตั้งแต่ 12 ขึ้นไปจนถึง 20


ตัวเลขที่แสดงเป็นเพียงแค่ Guideline คร่าวๆเท่านั้นนะครับ อย่าไปคิดว่าเป็นสูตรตายตัวอะไร ที่แบ่งออกมาเป็นกลุ่มแบบนี้ผมว่าเข้าใจง่าย

ข้อห้ามสำหรับการใช้ P/E ที่สำคัญคือ สำหรับหุ้นที่เป็นวัฏจักร (พวกเรือ เคมี ปิโตรเลียม ฯลฯ) อย่าใช้ pe ในการประเมินราคาเด็ดขาดครับ

หวังว่าคงไม่เหนื่อยใจในการอ่านให้จบก่อนนะครับ

ขอบคุณคุณโยโย่ครับ

การประเมินมูลค่าหุ้น

เมื่อคราวที่แล้วได้พูดเกี่ยวกับ P/E P/BV ROE หลายๆท่านอาจจะงงว่ามันคืออะไร

จริงๆแล้ว มันคืออัตราส่วนอย่างนึงที่ใช่ในการประเมินมูลค่าหุ้นครับ

ผมข้อความของคุณโยโย่มาให้ลองอ่านกันดูนะครับ


การประเมินราคาหุ้น

วิธีการประเมินราคาหุ้นนั้นมีอยู่มากมายหลายวิธี โดยแบ่งได้ออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ
  1. Discounting Model วิธีการประเมินราคาหุ้นแบบนี้มีวิธีคิดโดยอยู่บนพื้นฐานที่ว่า มูลค่าของหุ้นจะเกิดจากการคิดกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับในอนาคตแล้วปรับลดมาอยู่ในมูลค่าปัจจุบัน วิธีที่คิดจะได้เห็นกันบ่อยๆก็คือ Dividend discounted model โดยประเมินจากปันผลที่คาดที่ว่าจะได้รับในอนาคต หรือวิธี Discount cash flow โดยหลักมีคิดคล้ายๆกัน คือเอากระแสเงินสดสุทธิที่เป็นอิสระ คือไม่ต้องใช้ลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์เพื่อรักษาสภาพของธุรกิจเอาไว้ แล้วคำนวณมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน
  2. Relative Model วิธีนี้จะใช้การประเมินมูลโดยการเปรียบเทียบ พื้นฐานมาจากความคิดที่ว่า ของ 2 สิ่งที่มีคุณสมบัติคล้ายกัน ควรมีมูลค่าใกล้เคียงกัน ของที่มีคุณภาพที่สูงกว่าก็ควรมีมูลค่าสูงกว่า โดยสิ่งที่เอามาวัดเป็นคุณภาพของหุ้นนั้นก็มีใช้กันอยู่หลายอย่าง เช่น p/e, p/bv, p/fcf, p/sales ฯลฯ

จากพื้นฐานของการประเมินมูลค่าหุ้นทั้ง 2 รูปแบบ ก็มีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันพอสมควร

พวกกลุ่ม Discount มีข้อดีคือสามารถพิสูจน์ออกมาเป็นสูตรทางคณิตศาสตร์ได้ชัดเจนทำให้ดูว่ามีความน่าเชื่อถือสูง แต่กลับมีข้อจำกัดสำคัญอย่างหนึ่ง จำเป็นที่จะต้องประมาณอนาคตของบริษัทออกมาเป็นตัวเลขเป็นไปเป็นระยะเวลาหลายปี ซึ่งการประมาณตัวเลขเหล่านี้ให้ได้ใกล้เคียงความจริงเพียงแค่ปีสองปีก็นับว่ายากมากแล้ว ยิ่งเราต้องประมาณออกไปนานเท่าไหร่ โอกาสที่จะคาดการณ์ผิดก็ยิ่งสูงมากขึ้นเรื่อยๆ และวิธีนี้ยังมีเลขอีกตัวที่ต้องใช้คืออัตราส่วนคิดลด หรือ โดยการคิดก็มีหลายแบบอีก บางคนอาจจะใช้ต้นทุนเงินทุนถัวเฉลี่ย หรือ อัตราผลตอบแทนที่ต้องการในการลงทุน ซึ่งแต่ละคนก็คิดได้ต่างกันไป จากการที่ต้องมีการประมาณตัวเลขผลประกอบการในอนาคต และอัตราส่วนคิดลด ทำให้ราคาที่คำนวณได้จากวิธี Discount นั้นแตกต่างกันมาก คน 2 คนที่มีข้อมูลหุ้นตัวหนึ่งเท่าๆกันอาจจะประเมินราคาออกมาห่างกันเป็นเท่าตัวก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะฉะนั้นการใช้งานจริงก็อาจจะยากเอามากๆ และเสียเวลาคิดนานมากเช่นกันกว่าจะได้คำตอบที่น่าเชื่อถือออกมา บางครั้งวิธีผมมองว่าเป็นวิธีแบบสั่งได้ อยากได้ราคาเป้าหมายเท่าไหร่บอกมา แก้ตัวเลขนิดๆหน่อยราคาเป้าหมายก็เปลี่ยนไปคนละเรื่องแล้ว โดยสรุปวิธีนี้เป็นวิธีที่ผมลองพยายามศึกษาและใช้ในช่วงที่เล่นหุ้นเป็นปีที่ 2 แต่ผลลัพธ์คือ ปวดหัวเวลาคิด แถมยังเอามาใช้งานจริงไม่ค่อยได้

วิธีการหาราคาหุ้นกลุ่ม Relative นี้มีข้อดีอย่างหนึ่งเลยคือง่าย ... ไม่ต้องใช้สูตรคณิตศาสตร์ซับซ้อนอะไรเลยครับ เพิ่งแค่ บวก บล คูณ หาร เป็นก็หาได้ไม่ยาก แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่มากเช่นกัน คือดูไม่น่าเชื่อถือเท่าไหร่ พิสูจน์ไม่ค่อยได้ นอกจากนี้การประเมินก็ยังมีข้อจำกัดสำหรับหุ้นบางประเภทอยู่พอสมควร การประเมินราคาแบบ Relative นี้เป็นวิธีที่ผมใช้ในช่วงปีแรกของการลงทุน แล้วลดลงมาหน่อยหลังจากหันไปลองใช้วิธี Discount อยู่พักนึง แต่ในช่วงประมาณ 2 ปีหลังมานี้ผมกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง และใช้อย่างเต็มทีมากขึ้น แล้วก็พบว่าเป็นวิธีที่ใช้งานได้ดีมากๆ แม้ว่าวิธีจะดูเหมือนง่าย แต่สามารถพลิกแพลงวิธีคิดได้หลากหลายรูปแบบ และที่สำคัญจากการที่สังเกตุมาส่วนใหญ่ วิธีนี้ทำเงินให้ผมได้มากกว่าพวกกลุ่ม Discount เยอะมาก

ในครั้งต่อๆไปผมจะลองอธิบายการใช้งานจริงของวิธีการประเมินมูลค่าหุ้นแบบ Relative ให้ติดตามกันครับ ..

P/E P/BV และ ROE

ขออนุญาตคัดลอกและดัดแปลงเพิ่มเติมเพื่อความกระชับขึ้น จาก blog ของคุณ yoyo ครับ

สำหรับคนที่ได้อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับแนวทางการลงทุนน่าจะคุ้นเคยกับอัตราส่วน 3 ตัวที่เขียนไว้ที่ชื่อเรื่องในวันนี้ แต่สำหรับ คนที่อาจจะยังเป็นมือใหม่ผมจะขอทบทวนความหมายของอัตราส่วนทั้ง 3 ตัวก่อนนะครับ

P/E - คือ Price/Earning per Share (EPS) ถ้าสมมติว่ากำไรของบริษัทไม่เติบโตเลย P/E จะหมายถึงระยะเวลาคืนทุน เช่น P/E 5 เท่าหมายถึงระยะเวลาลงทุน 5 ปี ... P/E นี่ยิ่งต่ำยิ่งดีครับ

P/BV - ย่อมาจาก Price/Book Value ซึ่ง Book Value นี่จริงๆก็คิดมาจากส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) หารด้วยจำนวนหุ้น ... ยิ่งเราซื้อหุ้นได้ต่ำกว่า BV มากเท่าไหร่ (P/BV ต่ำ) ก็หมายความว่าเราสามารถซื้อหุ้นได้ในราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีของบริษัท ซึ่งตามตำราทั่วๆไปก็จะบอกว่า P/BV ยิ่งต่ำยิ่งดี ตัวเลขมาตราฐานที่มักจะใช้เป็นฐานก็คือเลข 1 เท่า

ROE - ย่อมาจาก Return on Equity หรือ (กำไรสุทธิ/ส่วนของผู้ถือหุ้น) เป็นอัตราส่วนที่ลุงบัฟเฟตให้ความสำคัญค่อนข้างมากครับ

ความหมายของ ROE นั้นเป็นตัวที่บ่งบอกว่าเงินที่บริษัทนั้นเก็บเอาไว้ทุกบาทนั้นบริษัทสามารถนำไปทำให้งอกเงยได้ในอัตราผลตอบแทนเท่าไหร่ครับ
ROE ยิ่งสูงก็ยิ่งดี ตัวเลขมาตรฐานที่ประมาณ 12-15% ขึ้นไป อย่างต่อเนื่องหลายๆปี

ความสัมพันธ์ของสามตัวนี้ครับ

P/E = Price/EPS = Price/(Net Profit/Number of Share)
P/BV = P/BV = Price/(Equity/Number of Share)
ROE = Return/Equity = (Net Profit/Equity)

ลองเอาผูกกันดูนะครับ จะได้ P/BV = P/E x ROE
จากที่หนังสือทั่วไปบอกว่าหุ้นที่ดีจะต้องมี P/E ต่ำ P/BV ต่ำ ROE สูง ลองมาใส่ในสูตรจะเห็นว่ามันมีความขัดแย้งกันอยู่พอสมควร

1. สมมติว่าให้หุ้นตัวหนึ่งมี P/E = 10 เท่า ROE = 5% หรือ 0.05 จะได้ P/BV = 0.5 ก็จะเห็นว่า P/E หุ้นตัวนี้อยู่ในระดับกลางๆ ไม่สูงไม่ต่ำไป P/BV = 0.5 ก็ถือว่าถูกมาก แต่ ROE ที่ 5% นั้นจริงๆแล้วถือว่าต่ำมาก

2. สมมติให้หุ้นอีกตัวหนึ่งมี P/E = 10 เหมือนกัน ROE = 20% จะได้ P/BV = 2 ซึ่งถ้ามองจาก P/BV นั้นพบว่าหุ้นเริ่มไม่ถูกแล้ว เพราะแพงกว่ามูลค่าทางบัญชีถึง 1 เท่า แต่ถ้ามองในแง่ของ ROE ที่สูงถึง 20% ก็จะเห็นว่าหุ้นตัวนี้มีคุณภาพดีมากๆตัวหนึ่ง

แล้วปัญหาก็คือเราจะเลือกซื้อหุ้นตัวไหนดี ??
เพราะจากสูตรข้างต้นจะเห็นว่า P/BV ต่ำกับ ROE สูงนั้นมักจะไม่มาด้วยกัน

ในมุมมองของผม (คุณโยโย่) ส่วนใหญ่การลงทุนที่ผ่านมาที่ทำให้ผมประสบความสำเร็จอยู่ซ้ำๆ

คือหุ้นที่มี ROE สูงแม้จะมี P/BV สูง

เพราะฉะนั้นเวลาลงทุนจริงๆ ผมแทบจะไม่ได้มอง P/BV เลยครับ ส่วนใหญ่ก็จะมอง P/E ROE และอนาคตของบริษัทซะมากกว่า ซึ่งตอนนี้มาดูหุ้นใน Port ของผม 4 ตัวก็เป็นหุ้นที่มี P/BV อยู่ในระดับ 3-4 เท่าทั้งนั้น (มีเพียงตัวเดียวที่ P/BV ประมาณ 1 เท่าหน่อยๆ) และ ROE ประมาณ 30-40%

สาเหตุที่ผมเลือกหุ้นที่มี ROE สูงมากกว่าหุ้นที่มี P/BV ต่ำ เพราะการลงทุนแบบเน้นคุณค่านั้นก็แบ่งออกเป็น 2 แนวหลักๆคือ
1. แนว Graham ที่เน้นหุ้นที่ราคาถูกเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะเน้นการซื้อหุ้นที่ P/BV ต่ำ P/E ต่ำ
2. แนว Buffett ที่เน้นหุ้นที่มีคุณภาพสูงราคาเหมาะสม คือซื้อที่มี ROE สูงอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มจะดีต่อไป ในขณะที่ P/E ก็ไม่แพงมากเกินไป

การลงทุนทั้ง 2 แนวนั้นถ้าจริงๆแล้วผมว่าใช้ได้ดีทั้งคู่
แต่จากผลงานของทั้งบัฟเฟตเทียบกับเกรแฮมก็จะเห็นว่าแม้เกรแฮมจะทำผลงานได้ดีแต่ Buffett นั้นทำผลงานได้ดีกว่ามาก ...

แล้วเมื่อไหร่เราถึงจะควรซื้อหุ้นที่มี ROE ต่ำและมี P/BV ต่ำ?
1. เมื่อนักลงทุนเป็นนักลงทุนที่อาจจะไม่มีความรู้หรือไม่มีเวลาติดตามข่าวสารการลงทุนอย่างต่อเนื่อง การลงทุนในหุ้นที่มี P/E และ P/BV ต่ำหลายๆตัว (ผมว่าอย่างต่ำต้อง 10 ตัว) เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มีการพิสูจน์มาระดับหนึ่งแล้วว่าให้ผลตอบแทนที่ชนะตลาดได้ แต่สำหรับคนที่มีความรู้ในด้านการลงทุนด้านธุรกิจและต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าผมว่าการซื้อหุ้น P/BV ต่ำคงไม่ใช่คำตอบที่ดีเท่าไหร่
2. เมื่อเราเจอหุ้นที่มีพื้นฐานเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน สมมติมีหุ้นตัวหนึ่งในอดีตอาจจะมีผลกำไรที่ไม่ค่อยดีทำให้มีค่า ROE ต่ำอยู่นาน ค่า P/BV แต่ถ้าเรามีข้อมูลเพียงพอว่าบริษัทมีพื้นฐานที่เปลี่ยนไปเช่นมีการลงทุนในโครงการบางอย่างที่ได้ผลดีมากและสามารถสร้างกำไรในอนาคตได้เป็นกอบเป็นกำ ซึ่ง ROE ในอนาคตจะเพิ่มสูงขึ้น ถ้าเรามีโอกาสได้เจอหุ้นแบบนี้โอกาสที่จะกำไรหลายๆเท่าต้วนั้นมีสูงมาก หุ้นพวกนี้เห็นได้บ่อยๆในกลุ่มธุรกิจวัฏจักร ที่อยู่ในช่วงต่ำสุดของ Cycle และกำลังมีแนวโน้มที่ดี ในอดีตก็จะเห็นหุ้นเรือเมื่อหลายๆปีก่อนมี ROE ต่ำมากๆ P/BV ก็ต่ำมากๆเช่นกัน จนค่าระวางเพิ่มขึ้น ROE ก็เพิ่มขึ้นสูงถึงระดับ 100% ใครได้ซื้อหุ้นพวกนี้ไว้ลงทุนระยะยาวจนปัจจุบันน่าจะทำกำไรได้หลาย 10 เท่าภายในระยะเวลาไม่นานมากนัก

ซื้อเมื่อถูก ขายเมื่อแพง และซื้อเมื่อแพง และขายที่แพงกว่า

พูดน่ะง่ายแต่จะทำได้จริงอย่างไร ???

จริงๆมันก็เป็นหลักในการขายของทั่วไปนั่นแหละครับ
ซื้อถูก - ขายแพง
ไม่งั้นจะเรียกการค้าได้อย่างไร

สำหรับการลงทุนในหุ้น การวิเคราะห์ว่าจะซื้อถูก-ขายแพง นั้น แบ่งตามหลักสากลได้ 2 ประเภทครับ
นั่นคือ Fundamental Analysis และ Technical Analysis ครับ

ถ้าให้พูดเปรียบกับหนังจีนกำลังภายใน ก็คงเหมือน ฝ่ายบุ๋น และ ฝ่ายบู๊

Fundamental Analysis เป็นการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัท เปรียบได้เหมือนฝ่ายบุ๋น คือ จะนิ่งๆ ไม่ค่อยโลดโผนในยุทธจักรเสียเท่าไหร่
คือจะเน้นทางด้านวิชาการเป็นอันดับแรก ในการตัดสินใจ ไม่รีบ เน้นวางแผนอย่างรัดกุม เพื่อไม่ให้ ตัวเองเจ็บและเลือดออก

Technical Analysis เป็นการวิเคราะห์ทางด้านเทคนิคอล ก็จะเปรียบได้กับฝ่ายบู๊ จะโลดโผนในยุทธจักรเยอะ กล้าวิ่งเข้าหาศัตรู อย่างไม่กลัวเกรง หากตัวเองมั่นใจในอาวุธที่ตนมีอยู่ พร้อมรบทุกเมื่อ ยอมเจ็บและเลือดออก เพื่อให้ได้สิ่งที่ตนต้องการ

จริงๆก็มีคนถกเถียงกันมานาน ว่าแล้วเราจะเลือกฝ่ายไหนดี บุ๋นหรือบู๊ อย่างไหนดีกว่ากัน
ก็แล้วแต่ชอบครับ บางคนชอบ ขงเบ้ง บางคนชอบ กวนอู ก็เป็นสิทธิที่จะเลือกครับ

แต่นี่เป็นเพียงแนวทางในการลงทุนเฉยๆครับ คุณสามารถเรียนรู้ทั้งสองวิธีเลยก็ได้
เป้าหมายคือเราควรจะรู้ในแนวที่เราเลือก และ ประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นั่นแหละสำคัญที่สุดครับ

การลงทุนในหุ้น

หลายๆคนที่ได้อ่านบทความที่ผ่านๆมาอาจจะเริ่มอยากลงทุนในหุ้นบ้างแล้ว
วิธีการการเริ่มต้นเปิดพอร์ทการลงทุนและรายละเอียดเกี่ยวกับพวกนั้นสามารถหาได้จากโบรกเกอร์ทั่วไป ซึ่งผมจะไม่กล่าวในที่นี้ครับ ถ้าไม่รู้จริงๆลอง search ใน google.com หรือตามแผงหนังสือตามร้านหนังสือชั้นนำได้ครับ

แต่ผมจะกล่าวถึง "วิธีการเบื้องต้น" ที่จะสามารถทำให้คุณ "ได้กำไร" จากหุ้น

ทั้งนี้บทความต่อๆไป ที่ผมจะเริ่มเขียน อาจจะมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เชื่อเหอะครับ ว่าถ้าคุณได้ทำความเข้าใจกับมันอย่างดีแล้ว มันจะมีประโยชน์กับการลงทุนของคุณเองครับ

ผมกล้าบอกเลยครับ ว่าถ้าคุณจะ "เล่น หุ้น" มันง่ายมากๆๆ แทบไม่ต้องรู้อะไรก็เล่นได้ครับ
แต่ถ้าหากว่าคุณ คิดจะ "ลงทุนในหุ้น" แล้ว ไม่ง่ายเลยครับ

หลายๆคน อาจจะต้องการเข้ามาในตลาดหุ้นเพื่อเพียงที่จะหวังได้กำไรหรือผลตอบแทนกลับไปอย่างง่ายๆ

"ก็อาจจะเป็นไปได้ครับ"

โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องมีความรู้อะไรเลยก็ได้
แต่ถ้าหากคุณต้องการผลตอบแทนแบบทบต้น "อย่างต่อเนื่อง" ติดต่อกันเรื่อยๆ

"ก็อาจจะเป็นไปได้ครับ"

แต่คุณจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ในการลงทุน "มากๆๆๆๆ" ทีเดียวเลยครับ

ยกตัวอย่างนักลงทุนอันดับ 1 ของโลก มีชื่อว่า "Warrent Buffet" ครับ
ปัจจุบันตาลุงนี่มีจะอายุ 90 ปีแล้วครับ เป็นลูกศิษย์ของปรมาจารย์ต้นตำหรับ VI (Value Investor ซึ่งมันคืออะไรผมจะอธิบายในภายหลังครับ) นั่นก็คือตา Benjamin Graham แห่ง ม.โคลัมเบียครับ

แต่นับตั้งแต่ลุงบัฟเฟต ลงทุนมาเขาได้ผลตอบแทน"ทบต้น" เฉลี่ยคร่าวๆประมาณปีละ 50% อย่างต่อเนื่อง

ว่ากันว่า นักลงทุนที่ลงทุนกับลุงบัฟ ด้วยเงิน 10,000 บาท ตั้งแต่ปี 1956 และเก็บผลประโยชน์ที่ได้รับไว้ในบริษัทอย่างต่อเนื่อง (คือไม่ถอนออกเลย) จนถึงปี 1994 (รวมประมาณ 38 ปี) จะได้รับผลตอบแทนถึง 80 ล้านบาททีเดียว

นี่่ไม่ใช่เรื่องฟลุ๊ค และไม่ใช่เรื่องล้อเล่น !!!
เพราะมันเกิดขึ้นแล้ว และไม่ใช่เกิดกับลุงบัฟเพียงคนเดียว !!!

ยังมีเซียนระดับโลกด้านการลงทุนมากมาย ซึ่งสามารถหาอ่านแนวคิดได้จากตามร้านหนังสือ ซีเอ็ดหรือ B2S ใกล้บ้านท่านครับ

ตลาดหุ้นไทย ก็มีคนทำแบบลุงบัฟได้ ยกตัวอย่างง่ายๆให้เห็นภาพ
เช่นถ้าคุณถือหุ้นปตท. ที่ราคาต่ำสุด 35 บาท และขายที่สูงสุด 400 กว่าบาท โดยไม่ได้รวมปันผล

จะได้ผลตอบแทน มากกว่า 1000% เพียงเวลาไม่กี่ปี
จาก 10,000 บาท เป็น 100,000 กว่าบาท

แล้วถ้าผลตอบแทนขนาดที่ว่านี้มันใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ หรือไม่กี่เดือนล่ะ
มันวิเศษไหมล่ะครับ !!

มันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้

มาศึกษาหุ้นกันเถอะครับ !!!

ทำไมต้องลงทุนในหุ้น

ขออนุญาตเล่าความหลังหน่อยนะครับ
ตัวผมเองได้รู้จักการลงทุนในหุ้นครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน โดยการไปร่วมเข้าค่ายที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากการชักชวนของเพื่อนในสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ในตอนนั้นผมเข้าไปโดยไม่มีความรู้ทางด้านการลงทุนเลย แต่มีความสนใจในศาสตร์ทางด้านนี้พอมากสมควร คิดแค่ว่ามันเป็นโอกาศที่ดีในการเปิดโอกาสทางความรู้ด้านการลงทุน

แล้วผมก็คิดไม่ผิด !!!

เพื่อนๆที่เข้าร่วมโครงการนี้มีหลากหลายคณะที่เข้ามา แต่ส่วนใหญ่ ล้วนมาจากคณะบัญชี เศรษฐศาสตร์ และ บริหาร จากมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆของประเทศ เช่น จุฬา ธรรมศาสตร์ เกษตร ABAC ผมซึ่งไม่ได้เรียนด้านนี้ เลยตื่นเต้นกับกิจกรรมนี้เป็นพิเศษมากกว่าคนอื่น

วิทยากรที่มาสอนในระยะเวลา 1 เดือน ผมเพิ่งมาทราบในภายหลังว่าเป็นสุดยอดนักลงทุนของประเทศระดับแถวหน้าทั้งนั้นเลย ยกตัวอย่างเช่น ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร ดร.สมจินต์ ศรไพศาล คุณวิกรม เกษมวุฒิ และท่านผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่นอีกมากมาย (สามารถดูรายละเอียดของแต่ละท่าน
จาก google.com)

น่าเสียดายที่เวลานั้นผมไม่มีความรู้มากพอที่จะถามคำถามอะไรได้เลย ไม่เช่นนั้นคงได้รับความรู้ที่ดีมากกว่านี้

กลับมาเรื่องหุ้น ทำไมหุ้นถึงน่าสนใจในการลงทุนมากกว่าอย่างอื่น

อยากจะขยายความเรื่องนี้ต่ออีกทีเพราะผมมองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆในการลงทุน หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องของผลตอบแทนแบบทบต้นมาบ้างแล้ว ลองมาทบทวนกันอีกทีนะว่ามันมหัศจรรย์ขนาดไหน (เคยมีนักลงทุนชื่อดังมากบอกว่าดอกเบี้นทบต้นนี่เป็นสิ่งมหัศจรรย์สิ่งที่ 8 ของโลกได้เลย)

สูตรในการคำนวณดอกเบี้ยทบต้นก็มีง่ายๆดังนี้ (เป็นสูตรที่ผมจำขึ้นใจมาก)
FV = PV (1+r)^t
FV - เงินในอนาคตที่เราคาดว่าจะมี (บาท)
PV - เงินลงทุนวันนี้ (บาท)
r ผลตอบแทนต่อปี (%)
t ระยะเวลาการลงทุน (ปี)

เคยลองตั้งเป้าหมายในชีวิตกันบ้างมั๊ยครับ ผมเองตอนที่เข้าตลาดใหม่ๆ (อายุประมาณ 22) ผมคิดไว้ว่าอยากจะมีเงินล้านในได้ก่อนอายุ 30 ปี เพราะฉะนั้นผมมีเวลาเหลืออยู่ 8 ปี สมมุติว่ามีเงินลงทุนเริ่มต้น 2 แสนบาท คำนวณจากสูตรข้างต้นโดยใช้วิธีลองผิดลองถูก กำหนด pv = 2 แสน t=8 แล้วเปลี่ยน r ไปเรื่อยๆจนได้ fv = 1ล้าน แสดงว่าผมจะต้องทำผลตอบแทนให้ได้ประมาณ 23% ต่อปีติดต่อกัน 8 ปี อาจจะฟังดูยาก แต่ถ้าเพิ่มผมแบ่งรายได้จากเงินเดือนลงทุนเพิ่มเดือนละ 3,000 บาท หรือปีละ 36,000 บาท ผมจะต้องลงทุนให้ได้ปีละ 13.5% ซึ่งผมว่าการลงทุนแบบเน้นคุณค่านั้นน่าจะทำได้ไม่ยาก

ตัวอย่างการคำนวณกรณีที่มีการลงทุนเพิ่ม












ลองตั้งเป้าหมายให้กับตัวเองดูนะครับ ในตัวอย่างผมกำหนดเวลาไว้ 8 ปีจะมีเงินให้ได้ 1 ล้านบาท ลองคิดต่อเล่นๆถ้าผมลงทุนด้วย rate นี้ต่อไปเรื่อยๆจนอยาก 40 ปี ผมจะมีเงิน 4.2 ล้าน อายุ 50 ปี 15.9 ล้าน อายุ 60 ปีผมจะมีเงินถึง 57 ล้านบาท...

ถ้าลองเปลี่ยนผลตอบแทนเป็น 15% จะเกิดอะไรขึ้น อายุ 60 ผมจะมีเงิน 89 ล้าน

แล้วถ้าผมแบ่งเงินเดือนที่จะลงทุนเพิ่ม จาก 3000 เป็น 5000 ต่อเดือน ที่ผลตอบแทน 15% อายุ 60 ปี port ผมจะพุ่งไปถึง 121 ล้านเลยทีเดียว สูงไม่ใช่ย่อยเลยนะครับ

เห็นมั๊ยครับว่าการลงทุนนี่ ปัจจัยแห่งความสำเร็จนั้นมี 2 ประการ (การเปลี่ยนค่า 2 ตัวนี้ทำให้ผลลัพธ์ต่างกันจนน่าตกใจ)
1. ระยะเวลาการลงทุน (เริ่มก่อนได้เปรียบ)
2. ผลตอบแทน (เก่งกว่าได้เปรียบ)
3. เงินออมที่ลงทุนเพิ่มในแต่ละปี (ออมเยอะก็ได้เยอะ) ข้อนี้ผมเพิ่มมาจากบทความก่อน

- ใครยังไม่เริ่มมาลงทุน รีบๆซะนะ อย่าลืม เริ่มก่อนได้เปรียบ
- ส่วนใครเริ่มต้นช้า อย่าเพิ่งเสียใจ รีบๆหาความรู้ด้านการลงทุนแบบเน้นคุณค่าให้เยอะซะ แล้วเอาเวลาที่นั่งจ้องราคาหุ้นบนคอมพิวเตอร์มานั่งศึกษาธุรกิจต่างๆให้มาก ผลตอบแทนจะพุ่งขึ้นตามความขยันของเราเอง
- อีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น คือการออมเงินมาลงทุนเพิ่มให้สูงขึ้น
- ลองตั้งเป้าหมายให้กับตัวเองดู แล้วลองคำนวณตามผมเล่นๆดูว่า ต้องใช้เวลาลงทุนนานเท่าไหร่ หรือต้องมีผลตอบแทนกี่ % เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายของตัวเองได้

ใครสามารถทำได้ครบทั้ง เริ่มลงทุนเร็ว ทำผลตอบแทนได้ดี และแบ่งรายได้มาลงทุนเพิ่ม อย่างสม่ำเสมอ เมื่อเวลาผ่านไป คุณจะรู้ได้เลยว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้มันไม่ไกลเกินเอื้อมเลยจริงๆ

แล้วเมื่อรู้แบบนี้ ทำไมผมถึงจะไม่ลงทุนในหุ้นล่ะครับ !!!

การลงทุนจำเป็นไหม

เคยไหมครับ เวลาที่คุณไปคุยกับเพื่อนๆเรื่องการลงทุน แล้วเขารู้สึกว่ามันน่าเบื่อ
บางคนคิดว่าการลงทุนเป็นเรื่องไกลตัว มันยุ่งยาก วุ่นวาย ต้องใช้ทุนเยอะ

ผมว่าคนนั้นคิดผิดครับ การลงทุนไม่ได้อยู่ไกลตัวอย่างที่คิด
ทุกคนโดยทั่วไปตั้งแต่เกิดมา ก็ได้รับการลงทุนของตัวคุณจาก คุณพ่อ คุณแม่ของคุณอยู่แล้ว
นั่นก็คือ การลงทุนในการศึกษาครับ
ผลตอบแทนก็คือ การที่ลูกสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ มีอาชีพที่ดีในอนาคต เป็นที่พึ่งของพ่อแม่ได้ยามแก่ชรา

แต่ถามว่าเมื่อคุณมีอาชีพการทำงานแล้ว จำเป็นไหมที่ต้องมีการลงทุนอีก

จำเป็นครับ!!

ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไร ทุกอาชีพต่างก็มีอายุหรือระยะเวลาในการทำงานของตัวมันเอง ไม่ว่าคุณจะเป็นหมอ วิศวกร ผู้พิพากษา นักกีฬา ดารา หรือ นายกรัฐมนตรี ล้วนแล้วแต่ก็มี period หรือช่วงเวลาจำกัดทั้งนั้น อย่างเช่น "ดารา" เมื่อคุณอายุมากขึ้นคุณก็จะได้รับบทบาทที่ต่างไปจากเดิม มีรุ่นใหม่ๆเข้ามาแทนที่คุณเรื่อยๆ "นักกีฬา" เมื่อคุณแก่ตัวลง คุณไม่สามารถวิ่งได้รวดเร็วเหมือนเมื่อก่อนแล้ว "ข้าราชการ" ก็มีอายุเกษียญเมื่อ 60 ปี เป็นไปไม่ได้ที่คุณจะทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งไปจนจบทั้งชีวิต

จริงๆมันก็คงไม่มีความจำเป็นในการลงทุน ถ้าหากทุกวันนี้คุณมีทุกสิ่งที่คุณต้องการแล้ว หรือคุณสามารถอยู่ได้ด้วยเงินปัจจุบันที่มีอยู่จนกระทั่งคุณเสียชีวิต

แต่ถ้าหากคุณยังไม่มีสิ่งที่คุณต้องการและคุณอยู่ด้วยเงินที่มีปัจจุบันไม่ได้ล่ะ คุณเคยคิดเผื่อไหมว่า หลังจากเกษียญอาชีพแล้วคุณจะทำอะไร จะอยู่อย่างไร

หรือถ้าคุณไม่สนใจเรื่องด้านบนเลย มันก็คงจะดี หากคุณได้มีรายได้เสริมจากการลงทุนเพื่อใช้ในชีวิตใช่ไหมครับ

ที่นี้จะลงทุนอะไร? ลงทุนไปเพื่ออะไร ?
เป็นคำถามแรกๆ ที่คุณจะพบได้บ่อยๆ เวลาที่จะทำธุรกิจอะไรซักอันนึง
มันเป็นคำถามสั้นๆ ง่ายๆ แต่คำตอบนั้น ไม่ง่ายเลย

จะลงทุนอะไร ?
ทุกวันนี้มีธุรกิจมากมายที่คุณสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งคนส่วนใหญ่คิดว่าง่าย และเป็นสูตรสำเร็จ
เช่น ร้านกาแฟ ร้านขายเสื้อผ้า ธุรกิจ SME ต่างๆ เพราะปัจจุบันมีหนังสือสอนการเป็นเถ้าแก่น้อยมากมายตามร้านหนังสือทั่วไป นี่ยังไม่รวมถึงบริการแฟรนไชน์ ที่ปัจจุบันขยายสาขากันจนล้นเมือง เพียงแค่คุณมีเงินลงทุนและทำเล แล้วติดต่อบริษัทเหล่านั้น คุณก็จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งกับธุรกิจนั้นได้อย่างใจฝัน

แล้วจะลงทุนไปเพื่ออะไร?
บางคนจะถามย้อนกลับมาว่า "ถามโง่ๆ ลงทุนเพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่ ให้ได้ผลตอบแทนงอกเงย หรือ กำไร"
ดูเหมือนจะง่ายแต่ถ้าถามว่า ถ้าเลือกลงทุน ในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง คุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่าธุรกิจที่คุณกำลังจะลงทุนนั้น จะได้กำไรอย่างที่คิด ?

คำถามที่จะทำให้เราลังเล ก็จะตามมาอย่างต่อเนื่อง
ขายแถวนี้ทำเลจะดีเหรอ?
ขายแพงแบบนี้ ใครจะมาซื้อ?
บลา บลา บลา

บางครั้งมันก็บอกได้ยาก ว่าสิ่งที่คุณจะลงทุนนั้น จะไปได้ดีหรือไม่ดี
เพราะบางครั้ง ธุรกิจที่คนส่วนมากทำได้ดี ก็ใช่ว่าคุณจะทำได้ดี
แล้วธุรกิจที่คนส่วนมากคิดว่าเป็นไปไม่ได้ คุณอาจจะทำได้ดีก็ได้

คิดไปก็ไม่มีคำตอบที่ถูก เป็นคำถามไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน
ยกเว้นเสียแต่จะลองทำมันจริงๆ

แต่ถ้าหากคุณคิดว่า การทำสิ่งเหล่านั้น ทำให้คุณมีความสุข หรือความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ก็ "ทำมัน" เถอะครับ

คุณล่ะครับ
วันนี้เลือกที่จะลงทุนอะไรบ้างแล้วหรือยัง ??

The begining of balance's way

สวัสดีครับ

ก่อนอื่นขอกล่าวสวัสดีทุกๆคนที่เข้ามาในบล๊อคของผมนะครับ

บล๊อคนี้ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ในการแบ่งปันข้อมูลทางด้านการลงทุน ในเชิงความรู้ และหลักตรรกศาสตร์ รวมถึงจิตวิทยาในการลงทุน แต่จะเน้นไปในวิธีการลงทุนในหุ้นโดยไม่เลือกค่ายนะครับ

ค่ายในที่นี้หมายถึงรูปแบบในการลงทุนในหุ้นนะครับ ผมคิดว่ามันไม่สำคัญว่าคุณลงทุนแบบไหน VI เก็งกำไร เล่นรอบ หรือ อะไรก็ตามแต่จะเรียก บอกตรงๆว่ามันไม่สำคัญ ผมเชื่อว่าโดยพื้นฐานทุกคนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ล้วนแล้วแต่ต้องการจะได้ผลตอบแทนที่มากกว่าการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ ดังนั้นจุดประสงค์ของทุกๆคนอยู่ที่เดียวกัน คือ "กำไร" เพียงแต่ " วิธีการ" หรือ "สไตล์" ในการลงทุนของแต่ละคนต่างกันเท่านั้นเอง มองง่ายๆก็เหมือนทานไอศครีม บางคนชอบรสวนิลา บางคนชอบ ช๊อคโกแลต บ้างก็สตอเบอรี่ บ้างก็ผสมหลายๆรสรวมกัน ซึ่งมันก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่จะเลือก เพราะคนเราชอบอะไรไม่เหมือนกัน

นั่นคือที่มาของชื่อบล๊อคนี้ครับ
"Balance's Way"

คือทางที่สมดุลสำหรับตัวคุณเองครับ